16 FEB 2024 ข่าวสาร/กิจกรรม 5 นาทีในการอ่าน 664 VIEWS

Visceral Fat คืออะไร ป้องกันและกำจัด ไม่ให้ลามจนเป็นโรคได้อย่างไร

Visceral Fat คือ ภาวะไขมันสะสมในช่องท้องที่ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น ภาวะไขมันพอกตับ หรือไขมันในหลอดเลือด เป็นต้น

Visceral Fat คืออะไร

Visceral Fat คือ ไขมันที่สะสมอยู่ในช่องท้องชั้นลึกล้อมรอบอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ตับอ่อนหรือหลอดเลือด ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อดูจากภายนอก เป็นจุดที่ร่างกายเก็บสะสมไขมันไว้ใช้ในยามจำเป็น และดึงมาใช้ยากกว่าส่วนอื่นๆ หากปล่อยให้มีไขมันในช่องท้องสะสมในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก และทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมา (3) (4)

จะรู้ได้อย่างไร ว่ามีไขมันในช่องท้องเท่าไร

ไขมันในช่องท้อง ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนไขมันใต้ชั้นผิวหนัง บางคนที่ดูผอม มีหน้าท้องที่แบนราบ อาจพบมีไขมันสะสมบริเวณช่องท้องจำนวนมากก็ได้  โดยสามารถตรวจสอบไขมันช่องท้องด้วยตัวเองแบบคร่าวๆ โดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้ 3

  1. การวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) โดยใช้สูตร 

BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย (ความสูง (เมตร) ยกกำลัง 2)

โดยหากมีค่าดัชนีมวลกาย มากกว่า 23 แสดงว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และอาจมีไขมันสะสมในช่องท้องจำนวนมาก

  1. การวัดรอบเอว ทำการวัดรอบเอวโดยใช้สายวัดรอบเอวเหนือสะดือ ผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอว 35 นิ้วขึ้นไป และผู้ชายที่มีเส้นรอบเอว 40 นิ้วขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะมีไขมันช่องท้อง

สาเหตุของไขมันในช่องท้อง มาจากอะไร

Visceral fat เกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลเป็นประจำ เช่น ของทอด ขนมหวาน อาหารแปรรูป ขนมปังขัดขาว น้ำอัดลม หรือการกินอาหารในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย รวมทั้งผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือผู้ที่มีปัญหาของระบบเผาผลาญจากสาเหตุต่างๆ ทำให้จนร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไปได้หมด จึงเกิดการสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งบริเวณช่องท้องรอบอวัยวะต่างๆ ด้วย (2) (3)


ไขมันในช่องท้อง กับผลกระทบต่อสุขภาพ

ไขมันในช่องท้อง กับผลกระทบต่อสุขภาพ

การมี  Visceral Fat นอกจากจะมีผลเรื่องรูปร่าง และภาพลักษณ์ที่มีผลต่อความมั่นใจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายอีกหลายด้าน ดังนี้ 1

ภาวะไขมันพอกตับ

ตับถือว่าเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น การกำจัดของเสีย ป้องกันการติดเชื้อ ช่วยสร้างน้ำดีซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยสร้างพลังงาน การมีไขมันในช่องท้องจะทำให้มีไขมันไปล้อมรอบตับ เกิดเป็นภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลทำให้ตับเกิดการอักเสบ เนื้อเยื่อตับถูกทำลาย เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคตับวาย และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

การมีไขมันในช่องท้องจำนวนมาก อาจส่งผลทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยกว่าปกติ อินซูลินไม่สามารถนำเอาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น เรียกภาวะนี้ว่าภาวะดื้ออินซูลิน การเกิดภาวะดังกล่าวนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ข้อเข่าเสื่อม

การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจากการสะสมของไขมันช่องท้อง ทำให้ข้อต่อบริเวณเข่าต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนยืน วิ่ง หรือ เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดข้อเข่าอักเสบและข้อเข่าเสื่อมได้

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ปริมาณไขมันในช่องท้องจำนวนมากที่ทำให้ส่วนท้องขยายใหญ่ พุงยื่นและน้ำหนักเกิน ส่งผลทำให้เกิดการบีบอัดบริเวณผนังทรวงอก และปอด ปอดจึงทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ผู้ที่มีไขมันช่องท้องจึงมักพบปัญหาหายใจลำบาก นอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ

ไขมันที่ล้อมรอบบริเวณหลอดเลือด จะส่งผลขัดขวางการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว รวมทั้งโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดได้

โรคเรื้อรัง

ผู้ที่มีไขมันในช่องท้องมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรัง ดังนี้

  • โรคความดันโลหิตสูง

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

  • โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

  • ภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้

วิธีดูแลสุขภาพ เพื่อกำจัดไขมันในช่องท้อง

วิธีดูแลสุขภาพ เพื่อกำจัดไขมันในช่องท้อง

การดูแลสุขภาพด้วยการลดไขมันช่องท้องสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ดีและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ของหวาน เบเกอรี อาหารแปรรูปต่างๆ น้ำอัดลม และเลือกบริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เช่น ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ธัญพืช ไข่ รวมทั้งควบคุมปริมาณอาหาร ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย อีกทั้งไม่ควรอดอาหารเพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร และยิ่งกินอาหารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

ออกกำลังกายเพื่อขจัดไขมัน

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มการเผาผลาญไขมันและน้ำตาล ป้องกันการสะสมของไขมัน โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ข้อเข่า ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อวางแผนการออกกำลังที่เหมาะสม หากไม่มีเวลาออกกำลังกาย ควรหมั่นขยับร่างกายไปมา หรือเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำสวน เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ เป็นต้น

กินอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

การรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดไขมันทั่วร่างกายได้ดี เห็นผลไวมากขึ้น อย่างไรก็ตามควรเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารอาหารเหมาะสม 5 หมู่ใน 1 มื้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ นอกจากนี้ควรเลือกอาหารเสริมที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน และไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ มักมีแคลอรีสูง ทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญไขมันชั่วขณะ เมื่อดื่มเป็นประจำ จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมของไขมันในช่องท้องได้ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงช่วยป้องกันการสะสมไขมันช่องท้องได้เป็นอย่างดี

พักผ่อนให้เพียงพอ

เมื่อร่างกายเกิดความเครียด ทำให้ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้รับประทานอาหารปริมาณมากเกินพอดี จนนำไปสู่การสะสมของไขมันช่องท้องได้ ดังนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งทำกิจกรรมยามว่าง เช่น อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ เลี้ยงสัตว์ จะเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี

ไขมันในช่องท้อง อันตรายกว่าไขมันบริเวณอื่นอย่างไร

ไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกายในปริมาณที่พอดี จะช่วยให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น ป้องกันการกระแทกและมักไม่เป็นอันตราย แต่ไขมันในช่องท้องกลับตรงกันข้าม หากมีการสะสมมากขึ้นจะยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายด้าน และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงอีกด้วย

สรุป

Visceral Fat คือ ภาวะไขมันในช่องท้อง เกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลเป็นประจำ รับประทานอาหารปริมาณมากเกินไป รวมทั้งผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่มีปัญหาการเผาผลาญจากสาเหตุต่างๆ ทำให้จนร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไปได้หมด จึงเกิดการสะสมบริเวณช่องท้องรอบอวัยวะต่างๆ การเกิดไขมันในช่องท้องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้านและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงมากมาย

วิธีการดูแลตัวเองเพื่อลดและป้องกันการเกิดไขมันในช่องท้องก็อยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น ลดของหวาน อาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดความเครียด รวมทั้งการรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน

References 

  1. ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน. Visceral fat คืออะไร และควรป้องกันอย่างไร. Hellokhunmor.com. published 31 January 2023. Retrieved 7 November 2023.

  2. ยลวรณัฏฐ์ จีรัชตกรณ์. Visceral Fat ไขมันตัวร้าย มหันตภัยที่คุณไม่คาดคิด. Si.mahidol.ac.th.  published 17 november 2022. Retrieved 7 November 2023.

  3. Ponpad. ไขมันในช่องท้อง ตัวร้ายเบื้องหลังปัญหาสุขภาพ. Pobpad.com. Retrieved 7 November 2023.Primocare. ไขมันช่องท้อง อันตรายที่คุณมองข้าม. Primocare.com. published 31 March  2022. Retrieved 8 November 2023.