09 JUL 2021 บทความผลิตภัณฑ์ 5 นาทีในการอ่าน 2822 VIEWS

ปกป้องดวงตาด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์

1567069110998.jpg

1567138496969.jpg


  • ผู้ที่มีปัญหาการมองเห็นในที่มืด หรือที่มีแสงน้อย เช่น ตาบอดกลางคืน หรือมีปัญหาในการปรับแสงจากที่สว่างสู่ที่มืดได้ช้า
  • ผู้ที่ต้องใช้สายตานานๆ เช่น ทำงานด้านพิสูจน์อักษร อ่านหรือเขียนหนังสือตลอดเวลา ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ใช้เวลาขับรถเป็นเวลานานและบ่อยครั้ง เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของดวงตา เช่น ผู้สูงอายุ (50 ปีขึ้นไป) ผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแดดโดยไม่สวมแว่นกันแดด ผู้ที่ต้องเผชิญกับแสงไฟสว่างจ้าหรือแสงแฟลช ผู้ที่ต้องขับรถในเวลากลางคืน ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของดวงตา


หมายเหตุ: จากเอกสารอ้างอิงข้อที่ 8 และ 19



❛ ก่อนจะทราบถึงสารอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา มาทำความรู้จักดวงตาของเรากัน ❜

1567138496308.jpg


  • กระจกตา (Cornea) ทำหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามายังดวงตา
  • ม่านตา (Iris) บริเวณนี้มีรูตรงกลางเรียกว่า รูม่านตา (Pupil) ทำหน้าที่ขยายและหดตัวเพื่อปรับแสงที่ผ่านเข้าดวงตาให้เหมาะสม แสงจะผ่านรูม่านตาไปสู่เลนส์ตา
  • เลนส์ตา (Lens) ทำหน้าที่รับแสง
  • เรตินา หรือจอประสาทตา (Retina) ทำหน้าที่บันทึกภาพที่มองเห็น
  • จุดรับภาพ (Macula) คือจุดสำคัญที่อยู่กลางจอประสาทตา ประกอบด้วยตัวรับแสง (Photoreceptors) จำนวนมากซึ่งแปรสัญญาณไปยังสมอง บริเวณนี้มีตัวรับแสงจำนวนมากและหนาแน่น จึงมีหน้าที่สำคัญที่ช่วยให้มองภาพได้รายละเอียดและชัดเจนมากขึ้น


หมายเหตุ: จากเอกสารอ้างอิงข้อที่ 4



สารอาหารปกป้องการทำงานของดวงตา

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มีข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการทำงานของดวงตาและการมองเห็นมากขึ้น จนกระทั่งสามารถใช้สารอาหารหลายชนิดเพิ่มประสิทธิภาพและปกป้องการทำงานของดวงตา และทราบว่าสารต้านออกซิเดชั่นในอาหารช่วยปกป้องเลนส์ตาจากการถูกทำลายของอนุมูลอิสระ เข้าใจบทบาทของสารแคโรทีนอยด์บางกลุ่มที่มีต่อกลไกลการทำงานของจอประสาทตาและจุดรับภาพ การใช้สารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟโตนิวเทรียนท์เพื่อปกป้องและเสริมประสิทธิภาพการทำงานของดวงตาจึงได้รับความสนใจมากขึ้น(6,8)

1567069322959.jpg


บิลเบอร์รี ประกอบด้วยไฟโตนิวเทรียนท์จำนวนมาก แต่สารสำคัญที่มีประโยชน์คือ กลุ่มแอนโธไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides) พบได้ในพืชที่มีสีแดง ม่วง จนถึงน้ำเงิน แอนโธไซยาโนไซด์มีสูตรโครงสร้างและการทำงานคล้ายสารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) จึงให้ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและฤทธิ์ทางด้านอื่น(1,5,9,13,14)

สารอื่นๆ ที่พบในบิลเบอร์รี เช่น แทนนิน (Tannins), ฟลาโวนอล ไกลโคไซด์ (เควอซิทิน, ไอโซเควิซิทิน) Flavonol Glycosides (Quercitrin, Isoquercitrin), ไฮดรอกซีซินนามิก (Hydroxycinnamic), อนุพันธ์ของกรดไฮดรอกซีเบนโซอิก (Hydroxybenzoic Acid Derivatives), แคททิชิน (โมโมเมอริก ฟลาแวน-3-Ols) Catechins (Monomeric Flavan-3-Ols), โปรไซยาดินิน (Procyanidins) เป็นต้น


ประโยชน์ของบิลเบอร์รี [ในรูปของสารสกัด หรือ V. Myrtillus Anthocyanosides (VMA) ] (5,12,13)

  • เพิ่มสมรรถภาพการมองเห็นในที่มืด (Improve Dark Adaptation)
  • การมองเห็นภาพคมชัดขึ้น (Visual Acuity)
  • ลดความเสี่ยงของการตาบอด
  • VMA ช่วยลดปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับแสดงสว่างจ้ามากๆ หรือแสงแฟลช ซึ่งสามารถทำลายจอประสาทตาจนอาจทำให้ตาบอด
  • ปกป้องโครงสร้างของผนังเส้นเลือดฝอย
  • VMA ร่วมกับวิตามินอีกับการรักษาผู้ป่วยต้อกระจก (เลนส์ตาขุ่นมัว)
  • มีรายงานวิจัยว่าการเสริม VMA ร่วมกับวิตามินอีเป็นระยะเวลา 4 เดือน ช่วยหยุดอาการขุ่นมัวของเลนส์ตาได้ถึง 97%(12)
  • การปกป้องผนังทางเดินอาหาร VMA
  • ช่วยเพิ่มการหลั่งของสารหล่อลื่น (Mucus) ในทางเดินอาหาร ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้




1567069331496.jpg


สารสกัดจากดอกดาวเรือง ให้สารสำคัญที่มีชื่อว่า ลูทีน (Lutein) พบได้ในพืชที่มีสีเหลืองถึงแดง ลูทีนเป็นไฟโตนิวเทรียนท์ที่จัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ กลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีน แต่ทำหน้าที่ต่างจากเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารก่อกำเนิดวิตามินเอ โดยลูทีนไม่ได้ทำหน้าที่สร้างวิตามินเอ ลูทีนมักพบร่วมกับซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของลูทีน การวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการปัจจุบันไม่สามารถแยกลูทีนจากซีแซนทีนได้ จึงนิยมเรียกลูทีนและซีแซนทีนรวมๆ กัน โดยเรียกย่อว่า L/Z(15,19)

L/Z พบมากในบริเวณจุดรับภาพ (Macula) บริเวณจอประสาทตา ทำให้มีสีเหลืองบริเวณจุดรับภาพ และที่จุดศูนย์กลางของบริเวณจุดรับภาพที่เรียกว่า โฟเวีย (Fovea) ประกอบด้วยตัวรับแสง (Photoreceptors) จำนวนมาก จึงตั้งสมมติฐานว่า L/Z ทำหน้าที่ช่วยให้มองภาพได้คมชัดและเห็นรายละเอียดของภาพดีขึ้น

L/Z ยังพบได้ในเลนส์ตา (Lens) ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของ L/Z มีบทบาทในการป้องกันปัญหาจากแสงยูวีในแสงแดด ชะลอการเกิดต้อกระจกซึ่งเป็นภาวะเลนส์ตาขุ่นมัวอันเนื่องจากความเสื่อมของเลนส์ตา


หน้าที่สำคัญของลูทีนและซีแซนทีน(2,3,15)

L/Z มีสีเหลืองจึงทำหน้าที่ปกป้องดวงตาโดยการดูดซึมแสงสีน้ำเงินและแสงสีเหนือม่วงหรืออัลตร้าไวโอเล็ตจากรังสีดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อดวงตามนุษย์ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำหน้าที่ในการปกป้องอนุมูลอิสระอันเกิดเนื่องจากรังสียูวีจากแสงแดด การสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษ และความเครียด เป็นต้น ที่อาจทำลายจอประสาทตาได้




1567069338302.jpg


แบล็คเคอร์เรนต์ อุดมด้วยไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด โดยหลายตัวในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ สารสำคัญที่พบ ได้แก่ วิตามินซี แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) แอนโธไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides) โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidins) ซึ่งช่วยการทำงานของสารแคโรทีนอยด์ในการปกป้องการทำงานของดวงตา โดยมีรายงานว่าสารแอนโธไซยาโนไซด์ในแบล็คเคอร์เรนต์ช่วยป้องกันปัญหาตาบอดในเวลากลางคืนได้ดี ทั้งยังพบสารฟลาโวนอยด์หลายชนิดที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยของดวงตา(7) นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ เช่น แคสซิส โพลีแซคคาไรด์ หรือ CAPS (Cassis Polysaccharide) สารกลุ่มนี้มีรายงานว่าช่วยป้องกันปัญหาบางอย่างของดวงตาได้ เช่น รายงานของ Dejima และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Biosci Biotechnol Biochem ปี 2007 พบว่าผู้ที่มีปัญหา Japanese Cedar Pollinosis อันเกิดจากการแพ้เกสรของต้นสนญี่ปุ่น มีอาการคันที่ดวงตาและน้ำตาไหลบ่อย เมื่อเสริมสารสกัดแบล็คเคอร์เรนต์พบว่าสามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้(7)




1567069345879.jpg


ผักโขม (Spinach) หรือผักปวยเล้ง (Chinese Spinach) เป็นผักใบเขียวเข้ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Spinacia oleracea L. อุดมด้วยไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด เช่น โคลีน (Choline) อิโนซิทอล (Inositol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) หลายกลุ่ม เช่น ลูทีน เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินเอ และวิตามินซี ให้คุณค่าต่อประสิทธิภาพของดวงตา หลายประการโดยพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่พบใน ผักโขมช่วยป้องกันปัญหาอนุมูลอิสระที่ก่อปัญหาใน ดวงตา การศึกษาของ Kopsell และคณะ ตีพิมพ์ใน วารสาร J Agric Food Chem ปี 2006 พบว่าเมื่ออาสาสมัครจำนวน 10 คนบริโภคสารสกัดจากผักโขม 50 กรัม นาน 12 สัปดาห์ ระดับลูทีนในเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อดวงตา(10)




1567069351272.jpg


การใช้ตับปลาทะเลซึ่งอุดมด้วยวิตามินเอ เพื่อรักษาและป้องกันอาการตาบอดในเวลากลางคืนเริ่มมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว วิตามินเอให้ผลสัมฤทธิ์ในการรักษารวดเร็วแสดงให้เห็นว่าวิตามินเอเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของดวงตาโดยตรง จึงไม่แปลกใจที่ชื่อสามัญของวิตามินเอคือเรตินอลนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวิตามินเอต่อเรตินาของดวงตา โดยพบว่าวิตามินเอเกือบทั้งหมดในร่างกายสะสมบริเวณเรตินาและเนื้อเยื่อภายในดวงตา โดยวงจรของวิตามินเอภายในเนื้อเยื่อของดวงตามีความสำคัญต่อการมองเห็นและการคงรูปของดวงตาค่อนข้างมาก การขาดวิตามินเอจึงส่งผลเสียต่อการทำหน้าที่ของดวงตาอย่างรุนแรง(11,18,20) รายงานการศึกษาของ Maeda และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Nippon Ganka Gakkai Zasshi ปี 2009 พบว่า ความผิดปกติในการทำหน้าที่ของดวงตา อันเป็นผลมาจากวงจรวิตามินเอที่เป็นปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้วิตามินเอ(11)




ตารางสรุปความสำคัญของสารอาหารต่อดวงตา

อาหาร สารออกฤทธิ์ ผลต่อดวงตา*
ผลบิลเบอร์รี แอนโธไซยาไนด์ • เพิ่มสมรรถภาพการมองเห็นในที่มืด
• ลดระยะเวลาในการปรับแสงจากสว่างไปสู่ที่มืด
• ช่วยการมองเห็นภาพคมชัดขึ้น
• เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ภายในจอประสาทตา
• ปกป้องโครงสร้างของผนังหลอดเลือดฝอย
• แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันต้อกระจก
สารสกัดจากดอกดาวเรือง ลูทีน/ซีแซนทีน • ดูดกลืนแสงสีน้ำเงินและแสดงอัลตร้าไวโอเล็ต จากรังสีดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อดวงตามนุษย์
• มีคุณสมบัติเป็นสารต้านออกซิเดชั่น ช่วยปกป้องดวงตาจากอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี มลภาวะความเครียด ที่อาจทำลายจอประสาทตา
ผลแบล็คเคอร์เรนต์ วิตามินซี, แอนโธไซยานิน, แอนโธไซยาโนไซด์, โปรแอนโธไซยานิดิน • ช่วยการทำงานของสารแคโรทีนอยด์ในการปกป้องการทำงานของดวงตา
• เสริมประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยของดวงตา
แคสซิส โพลีแซคคาไรด์ • ป้องกันการแพ้เกสรของต้นสนญี่ปุ่น
ผักโขมหรือผักปวยเล้ง โคลีน, อิโนซิทอล, ฟลาโวนอยด์, แคโรทีนอยด์ เช่น ลูทีน • ลูทีนให้ผลตามปรากฏข้างต้นแต่มีปริมาณต่ำกว่า
อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอหรือสารสังเคราะห์ วิตามินเอ • ป้องกันอาการตาบอดในเวลากลางคืน
• ป้องกันการตาบอดจากการขาดวิตามินเอ
• เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ ช่วยการคงรูปของดวงตา


* ผลที่พบจากรายงานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากสารกัดเข้มข้น

เอกสารอ้างอิง: คลิกที่นี่



แท็ก